วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2565

ฟรีแจก หนังสือมนต์พิธี สำหรับพระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนทั่วไป

ฟรีแจก หนังสือมนต์พิธี สำหรับพระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนทั่วไป
ขอเรียนเชิญ  พระภิกษุสามเณร พุทธศาสนิกชน และ ผู้ที่สนใจศึกษา หนังสือ มนต์ พิธี
ซึ่งรวบรวมโดย พระครูอรุณธรรมรังษี (เอี่ยม สิริวณโณ) วัดอรุณราชวราราม (คณะ3) เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ  10600

แจ้งเรื่อง ขอพักการแจก หนังสือมนต์พิธี ชั่วคราวครับ
ประกาศไว้ ณ. วันที่ 30 มิ.ย. 55 





ท่านใดมีความประสงค์ ที่จะรับ หนังสือ มนต์ พิธี
คลิ๊กดู รายละเอียดในการขอรับหนังสือมนต์พิธี ที่นี่ครับ
แจก หนังสือมนต์พิธี ฟรี 



สวัสดีครับ ผมนาย กานพูล ยินดีที่ได้รู้จักทุกท่านครับ
เนื่องด้วยผมเอง ได้มีโอกาสอ่าน หนังสือมนต์พิธี  (ปกเหลือง) ซึ่งเป็นหนังสื่อที่มีคุณค่ามาก สำหรับ พระภิกษุสามเณร พุทธศาสนิกชน และ ผู้ที่สนใจศึกษา พระพุทธศาสนา
แต่หลายท่านอาจจะเจอปัญหาคล้ายผมก็ได้ เช่น ไม่รู้ว่าจะไปหาซื้อ หนังสือมนต์พิธีที่ไหน หนังสือมนต์พิธีราคาเท่าไหร่ ปัจจัยไม่เพียงพอที่จะซื้อหนังสือมนต์พิธี หรือ ที่อาศัยอยู่ปัจจุบันหาซื้อ หนังสือมนต์พิธียาก

ผมเองจึงขออาสา ช่วยเหลือท่าที่มีความต้องการ หนังสือมนต์พิธี แต่ไม่สะดวกเดินทางไปซื้อ
โดยการ แจก หนังสือ มนต์ พิธี (ปกเหลือง)ซึ่งรวบรวมโดย พระครูอรุณธรรมรังษี (เอี่ยม สิริวณโณ)
เพื่อเผื่อแผ่ สืบทอดพระพุทธศาสนา แด่พระภิกษุสามเณร พุทธศาสนิกชน และ ผู้ที่สนใจ

ท่านใดมีความประสงค์ ที่จะรับ หนังสือ มนต์ พิธี แจ้งมาได้
โดยเขียนชื่อที่อยู่ที่ให้สมบูรณ์ เพื่อความถูกต้องในการจัดส่ง

ข้าพเจ้าขอมอบให้ท่านที่ต้องการไปใช้ประโยชน์จริงเท่านั้น และได้โปรดอย่านำ หนังสือ มนต์ พิธี ที่ข้าพเจ้าตั้งใจมอบให้ไปขายต่อ


วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ที่มาของ บทสวดอิติปิโส


ที่มาของ"บทสวดอิติปิโส"

ธชัคคสูตร

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถาวรรค



ธชัคคสูตร เป็นพระสูตรที่ว่าด้วยอานุภาพแห่งการระลึกถึง พระรัตนตรัย ที่พระพุทธองค์ทรงนำเอาเรื่องการทำสงครามระหว่างเทพกับเทพอสูรมาเป็นข้อ เปรียบเทียบ เพื่อเตือนใจภิกษุผู้ไปทำความเพียร อยู่ตามป่าเขาลำเนาไพรอันเงียบสงัด ห่างไกลจากผู้คนสัญจรไปมา
การ อยู่ท่ามกลางป่ากว้างดงลึกของภิกษุผู้ยังเป็นปุถุชนเช่นนั้น ย่อมจะก่อให้เกิดความหวาดกลัวขนผองสยองเกล้า เมื่อเกิดความรู้สึก หวาดกลัว พระพุทธองค์แนะนำให้ภิกษุระลึกถึงธง คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ หรือพระสังฆคุณ แล้วจะสามารถข่มใจระงับความหวาดกลัวบำเพ็ญเพียร ต่อไปได้

การสวดธชัคคสูตรก็เพื่อเป็นการทำลายความหวาดกลัวขนพองสยองเกล้า สำหรับผู้ที่ต้องเดินทางไปอยู่ต่างถิ่น หรือในสถานที่ที่ไม่ คุ้นเคย โดยน้อมเอาคุณของพระรัตนตรัยมาสร้างเสริมกำลังใจให้เกิด ความอาจหาญแกล้วกล้าในการต่อสู่อันตรายและอุปสรรคนานาประการ
นอกจากนั้น ธชัคคสูตรยังช่วยคุมครองป้องกันอันตรายจากที่สูง หรืออันตรายทางอากาศ เช่น อันตรายจากการขึ้นต้นไม้สูง อันตรายจากการเดินทางที่ต้องผ่านหุบเขาเหวผาสูงชัน อันตรายจากสิ่งที่ตกหล่นมาจากอากาศ และในปัจจุบันยังนิยมใช้สวดเพื่อป้องกันอันตรายอันจะเกิดจากการเดินทางโดย เครื่องบิน

โดยทั่วไปการสวดบทธชัคคสูตรไม่นิยมสวดทั้งสูตร แต่จะสวดเฉพาะบทสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ซึ่งเป็นหัวใจของพระสูตรนี้ เราเรียกกันโดยทั่วไปว่า "สวดอิติปิโส" เว้นไว้แต่มีเวลามากและต้องการสวดเป็นกรณีพิเศษจึงจะสวดทั้งสูตร


บทสวดธชัคคสูตร


เอวัมเม สุตัง ฯ เอกัง สะมะยัง ภะคะวา สาวัตถิยัง วิหะระติ เชตะวะเน อะนาถะปิณฑิกัสสะ อาราเม ฯ ตัตระ โข ภะคะวา ภิกขู อามันเตสิ ภิกขะโวติ ฯ ภะทันเตติ เต ภิกขู ภะคะวะโต ปัจจัสโสสุง ฯ ภะคะวา เอตะทะโวจะ

ภูตะปุพพัง ภิกขะเว เทวาสุระสังคาโม สะมุปัพะยุฬโห อะโหสิฯ อะถะโข ภิกขะเว สักโก เทวานะมินโท เทเว ตาวะติงเส อามันเตสิ สะเจ มาริสา เทวานัง สังคามะคะตานัง อุปปัชเชยยะ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา มะเมวะ ตัสะมิง สะมะเย ธะชัคคัง อุลโลเกยยาถะ มะมัง หิ โว ธะชัคคัง อุลโลกะยะตัง ยัมภะวิสสะติ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา โส ปะหิยยิสสะติ โน เจ เม ธะชัคคัง อุลโลเกยยาถะ

อะถะ ปะชาปะติสสะ เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลเกยยาถะ ปะชาปะติสสะ หิ โว เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลกะยะตัง ยัมภะวิสสะติ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา โส ปะหิยยิสสะติ โน เจ ปะชาปะติสสะ เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลเกยยาถะ

อะถะ วะรุณัสสะ เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลเกยยาถะ วะรุณัสสะ หิ โว เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลกะยะตัง ยัมภะวิสสะติ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา โส ปะหิยยิสสะติ โน เจ วะรุณัสสะ เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลเกยยาถะ

อะถะ อีสานัสสะ เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลเกยยาถะ อีสานัสสะ หิ โว เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลกะยะตัง ยัมภะวิสสะติ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา โส ปะหิยยิสสะตีติ ฯ

ตัง โข ปะนะ ภิกขะเว สักกัสสะ วา เทวานะมินทัสสะ ธะชัคคัง อุลโลกะยะตัง ปะชาปะติสสะ วา เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลกะยะตัง วะรุณัสสะ วา เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลกะยะตัง อีสานัสสะ วา เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลกะยะตัง ยัมภะวิสสะติ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา โส ปะหิยเยถาปิ โนปิ ปะหิยเยถะ ตัง กิสสะ เหตุ สักโก หิ ภิกขะเว เทวานะมินโท อะวีตะราโค อะวีตะโทโส อะวีตะโมโห ภิรุฉัมภี อุตะราสี ปะลายีติ ฯ

อะหัญจะ โข ภิกขะเว เอวัง วะทามิ สะเจ ตุมหากัง ภิกขะเว อะรัญญะคะตานัง วา รุกขะมูละคะตานัง วา สุญญาคาระคะตานัง วา อุปปัชเชยยะ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา มะเมวะ ตัสะมิง สะมะเย อะนุสสะเรยยาถะ

อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะ - สัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ มะมัง หิ โว ภิกขะเว อะนุสสะระตัง ยัมภะวิสสะติ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา โส ปะหิยยิสสะติ โน เจ มัง อะนุสสะเรยยาถะ อะถะ ธัมมัง อะนุสสะเรยยาถะ

สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ ธัมมัง หิ โว ภิกขะเว อะนุสสะระตัง ยัมภะวิสสะติ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา โส ปะหิยยิสสะติ โน เจ ธัมมัง อะนุสสะเรยยาถะ อะถะ สังฆัง อะนุสสะเรยยาถะ

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย อัญชะลีกะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ

สังฆัง หิ โว ภิกขะเว อะนุสสะระตัง ยัมภะวิสสะติ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา โส ปะหิยยิสสะติ ตัง กิสสะ เหตุ ตะถาคะโต หิ ภิกขะเว อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วีตะราโค วีตะโทโส วีตะโมโห อะภิรุ อัจฉัมภี อะนุตราสี อะปะลายีติ ฯ อิทะมะโวจะ ภะคะวา อิทัง วัตะวานะ สุคะโต อะถาปะรัง เอตะทะโวจะ สัตถา
อะรัญเญ รุกขะมูเล วา สุญญาคาเร วะ ภิกขะโว
อะนุสสะเรถะ สัมพุทธัง ภะยัง ตุมหากะ โน สิยา
โน เจ พุทธัง สะเรยยาถะ โลกะเชฏฐัง นะราสะภัง
อะถะ ธัมมัง สะเรยยาถะ นิยยานิกัง สุเทสิตัง
โน เจ ธัมมัง สะเรยยาถะ นิยยานิกัง สุเทสิตัง
อะถะ สังฆัง สะเรยยาถะ ปุญญักเขตตัง อะนุตตะรัง
เอวัมพุทธัง สะรันตานังธัมมัง สังฆัญจะ ภิกขะโว
ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วาโลมะหังโส นะ เหสสะตีติ ฯ



คำแปล


ข้าพเจ้า ได้สดับมาอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่พระเชตวันวิหาร อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีใกล้พระนครสาวัตถี ใน เวลานั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า "ภิกษุทั้งหลาย" ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "พระพุทธเจ้าข้า" ดังนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์ต่อไปว่า

ภิกษุทั้งหลาย เรื่องราวในอดีตกาลอันไกลโพ้นเคยมีมา แล้ว ได้เกิดสงครามระหว่างเหล่าเทวดากับเหล่าอสูรขึ้น ครั้งนั้น ท้าวสักกเทวราช ผู้เป็นใหญ่ในหมู่เทพ ตรัสเรียกเทวดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาสั่งว่า ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ถ้าพวกเทวดาเข้าสู่สงครามแล้วเกิดความกลัว หวาดสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้า ขอให้ท่านทั้งหลายแลดูยอดธงของเรา เพราะเมื่อพวกท่านแลดูยอดธงของเราแล้วความกลัว ความหวาดสะดุ้ง ความขนพองสยองเกล้าที่มีอยู่จักหายไป

ถ้าพวกท่านทั้งหลายแลดูยอดธงเราไม่ได้ ก็ขอให้แลดูยอดธงของเทวราชชื่อปชาบดี เพราะเมื่อท่านทั้งหลายมองดูยอดธงของเทวราชชื่อปชาบดีแล้ว ความกลัว ความหวาดสะดุ้ง ความขนพองสยองเกล้าที่มีอยู่จักหายไป

ถ้าท่านทั้งหลายแลดูยอดธงของเทวราชชื่อปชาบดีไม่ได้ ก็ให้แลดูยอดธงของเทวราชชื่อวรุณ เพราะเมื่อท่านแลดูยอดธงของเทวราช ชื่อวรุณแล้ว ความกลัว ความหวาดสะดุ้ง ความขนพองสยองเกล้าที่มีอยู่จักหายไป

ถ้าท่านทั้งหลายแลดูยอดธงของเทวราชชื่อวรุณไม่ได้ ก็ให้ แลดูยอดธงของเทวราชชื่ออีสาน เพราะเมื่อท่านแลดูยอดธงของเทวราชชื่ออีสานแล้ว ความกลัว ความหวาดสะดุ้ง ความขนพองสยองเกล้าที่มีอยู่จักหายไป

ภิกษุทั้งหลาย แท้จริงแล้ว เมื่อเหล่าเทวดาทั้งหลายแลดูยอดธงของท้าวสักกเทวราช แลดูยอดธงของเทวราชชื่อปชาบดี แลดูยอดธงของเทวราชชื่อวรุณ หรือแลดูยอดธงของเทวราชชื่ออีสาน ความกลัว ความหวาดสะดุ้ง ความขนพองสยองเกล้าที่มีอยู่ บางทีก็หายได้ บางทีก็ไม่หาย เพราะเหตุไร ภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าท้าวสักกเทวราชยังไม่สิ้นราคะ ยังไม่สิ้นโทสะ ยังไม่สิ้นโมหะ ยังกลัว ยังหวาดสะดุ้ง ยังต้องหนี

ภิกษุทั้งหลาย ส่วนเราตถาคตกล่าวอย่างนี้ว่า ถ้าพวกเธอ ทั้งหลายไปอยู่ตามป่า ตามโคนไม้ ตามบ้านร้าง หรือที่อื่นใดแล้วเกิด ความกลัว หวาดสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้า ขอให้เธอทั้งหลายระลึกถึงเราตถาคตว่า

"เพราะเหตุอย่างนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า ทรงเป็นครูของเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม ทรงมีความสามารถในการจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ฯ"

ภิกษุทั้งหลาย เพราะเมื่อเธอทั้งหลายระลึกถึงตถาคตอยู่ ความกลัว ความหวาดสะดุ้ง ความขนพองสยองเกล้าที่มีอยู่จักหายไป
ถ้าระลึกถึงตถาคตไม่ได้ ก็ให้ระลึกถึงพระธรรมว่า "พระธรรม เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล สามารถ แนะนำผู้อื่นให้มาพิสูจน์ได้ว่า "ท่านจงมาดูเถิด" ควรน้อมนำมาไว้ในตัว ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน ฯ"

ภิกษุทั้งหลาย เพราะเมื่อท่านทั้งหลายระลึกถึงพระธรรมอยู่ ความกลัว ความหวาดสะดุ้ง ความขนพองสยองเกล้าที่มีอยู่จักหายไป
ถ้าระลึกถึงพระธรรมไม่ได้ ก็ให้ระลึกถึงพระสงฆ์ว่า "พระสงฆ์เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรงแล้วปฏิบัติ เพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์ ปฏิบัติเหมาะสม ได้แก่บุคคล เหล่านี้คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงลำดับได้ ๘ ท่าน นั่นแหละพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งเป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขาน้อมนำมาบูชา ควรแก่สักการะที่เขาเตรียมไว้ต้อนรับ ควรรับทักษิณาทาน เป็น ผู้ที่บุคคลทั่วไปควรให้ความเคารพ เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ"

ภิกษุทั้งหลาย เพราะเมื่อเธอทั้งหลาย ระลึกถึงพระสงฆ์แล้ว ความกลัว ความหวาดสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้าที่มีอยู่จักหายไป ที่เป็นเช่นนี้เพราะตถาคตเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ ไม่มีความกลัว ไม่หวาดสะดุ้ง ไม่หนี พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสพุทธพจน์นี้แล้วจึงตรัสนิคมคาถาประพันธ์ ต่อไปอีกว่า

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายไปอยู่ตามป่า ตามโคนไม้ หรือตามบ้านร้าง ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าแล้วพวกเธอก็จะไม่มี ความหวาดกลัว ถ้าพวกเธอทั้งหลายไม่สามารถระลึกถึงพระพุทธเจ้า ผู้เป็นใหญ่ในโลก ผู้แกล้วกล้ากว่านรชน ก็ให้ระลึกถึงพระธรรม อันสามารถนำสัตว์ออกจากทุกข์ ที่เราแสดงไว้ดีแล้วเถิด ถ้าพวกเธอไม่สามารถระลึกถึงพระธรรมที่สามารถนำสัตว์ออกจากทุกข์อันเราแสดง ไว้ดีแล้ว ต่อจากนั้น ก็ให้ระลึกถึงพระสงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลกไม่มี นาบุญอื่นยิ่งกว่า ภิกษุทั้งหลาย เมื่อท่านทั้งหลายน้อมรำลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ ความกลัว ความหวาดสะดุ้ง ความขนพองสยองเกล้าก็จักไม่มีแล ฯ



ธชัคคสูตรบรรยาย
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๒ ฉบับที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๐





จะเล่าตำนานสวดมนต์ต่อ ตำนานที่ ๕ ในเจ็ดตำนานคือ ธชัคคสูตร จัดเป็นพระปริตรที่ ๕

คำว่า ธชัคคะ แปลว่า ยอดธง ธชัคคสูตรคือพระสูตรที่แสดงถึงยอดธง อันท่านแสดงว่า

พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงเรื่อง เทวาสุรสงคราม คือ สงครามแห่งเทพดากับอสูรซึ่งเป็นเรื่องที่เคยมีมาแล้ว โดยตรัสเล่าว่า

เมื่อเทพดาทั้งหลายรบกับอสูร ความกลัวบังเกิดขึ้นแก่เทพดาทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทวดา จึงได้ตรัสแนะนำให้หมู่เทพแลดูยอดธง หรือชายธงของพระองค์หรือว่าของเทวราชที่รองลงมา ความกลัวก็จะหายไปได้

ส่วนพระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า เมื่อเข้าไปอยู่ในป่าเกิดความกลัวขึ้น ก็ให้ระลึกถึงพระองค์ หรือระลึกถึงพระธรรม หรือระลึกถึงพระสงฆ์ความกลัวก็จะหายไป

พระสูตรนี้แสดงทางธรรมปฏิบัติก็คือ ให้เจริญพุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ ในเมื่อภิกษุทั้งหลาย หรือผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เข้าไปอยู่ในป่า ก็จะทำให้ความกลัวต่าง ๆ หายไปได้ ก็เป็นพระสูตรที่สอนให้เจริญพุทธานุสสติเป็นต้น นั้นเอง

และเรื่อง เทวาสุรสงคราม ที่ว่าเป็นเรื่องเคยมีมานั้น ก็มีเรื่องโดยสังเขปว่า ท้าวสักกะจอมเทพได้ไปอุบัติในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่ว่าอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุซึ่งตั้งอยู่กลางใจโลก และที่ตรงนั้นเป็นที่อยู่ของอสูรทั้งหลาย เมื่อท้าวสักกะไปอยู่ ทีแรกก็อยู่ร่วมกับอสูรทั้งหลาย แต่มายหลังก็ได้หาวิธีขับอสูรทั้งหลายออกไป ฝ่ายอสูรทั้งหลายต้องเสียรู้ท้าวสักกะต้องถอยออกไปอยู่ภายนอก ก็มีความผูกใจแค้น ถึงคราวก็ยกมารบกับหมู่เทพซึ่งเข้ามายึดถิ่นฐานเดิมของตนเสียทีหนึ่ง ก็เกิดสงครามระหว่างเทพกับอสูรทั้งหลายกันทีหนึ่ง และอสูรทั้งหลายก็ต้องถอยไปทุกที แต่ว่าถึงคราวก็ยกมารบใหม่ เล่าว่าอย่างนั้น เรียกว่าเทวาสุรสงคราม เป็นเรื่องที่เคยมีมาแล้ว และนักประวัติศาสตร์ปัจจุบันก็สันนิษฐานว่า คงจะมีสงครามแย่งถิ่นกันระหว่างชาวอริยกะซึ่งอพยพเข้ามาอยู่ในอินเดียกับ หมู่ชนชาวพื้นเมือง ดังที่แสดงเล่าไว้ในพุทธประวัติตอนต้นนั้น ก็เป็นเค้ามูลของเรื่องเทวาสุรสงคราม ซึ่งแม้พระพุทธเจ้าก็ทรงอ้างมาเล่านี้ และแม้ในสมัยพุทธกาลเอง เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องเก่ามาแล้ว จึงใช้คำว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเคยมีมาแล้ว

พระสูตรนี้ก็เป็นพระสูตรที่นับถือกันพระสูตรหนึ่ง มีคำแปลตั้งแต่ต้นดังต่อไปนี้

ตั้งต้นพระสูตรว่า เอวมฺเม สุตํ อันข้าพเจ้า (คือพระอานนทเถระ) ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ เอกํ สมยํ ภควา เป็นอาทิ ซึ่งแปลความเป็น ลำดับ ว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จประทับอยู่ที่เชตวันวิหาร อารามของอนาถปิณฑิกคหบดี ใกล้เมืองสาวัตถี ในกาลนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกพระภิกษุทั้งหลายว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระภิกษุเหล่านั้นจึงทูลรับพระพุทธพจน์ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องดึกดำบรรพ์เคยมีมาแล้ว สงครามแห่งเทพดากับอสูร ได้เกิดประชิดกันแล้ว

ครั้งนั้น ท้าวสักกเทวราช ผู้เป็นเจ้าแห่งเทพ เรียกหมู่เทพในชั้นดาวดึงส์มาสั่งว่า ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ ถ้าความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ขนพองสยองเกล้าก็ดี พึงบังเกิดแก่หมู่เทพ ผู้ไปสู่สงครามในสมัยใด

ในสมัยนั้น ท่านทั้งหลายพึงแลดูชายธงหรือยอดธงของเรานั่นแหละ เพราะว่า เมื่อท่านทั้งหลายแลดูชายธงของเราอยู่ ความกลัวความหวาดสะดุ้งหรือขนพองสยองเกล้า อันใดจักมี อันนั้นจักหายไป ถ้าท่านทั้งหลาย ไม่แลดูชายธงของเรา ทีนั้นท่านทั้งหลาย พึงแลดูชายธงของเทวราชชื่อปชาบดี เพราะว่า เมื่อท่านทั้งหลายแลดูชายธงของเทวราช ชื่อปชาบดีอยู่ ความกลัว ความหวาดสะดุ้ง หรือความขนพองสยองเกล้าอันมีจักหายไป

ถ้าท่านทั้งหลายไม่แลดูชายธงของเทวราชชื่อปชาบดี ทีนั้นท่านทั้งหลาย พึงแลดูชายธงของเทวราชชื่อวรุณ เพราะว่า เมื่อท่านทั้งหลายแลดูชายธงของเทวราช ชื่อวรณอยู่ ความกลัวความหวาดสะดุ้ง หรือความขนพองใสยองเกล้ที่จักมี ก็จักหายไป ถ้าท่านทั้งหลายไม่แลดูชายธงของเทวราช ชื่อวรุณ ทีนั้นท่านทั้งหลายพึงแลดูชายธงของเทวราชชื่ออีสาณ

เพราะว่า เมื่อท่านทั้งหลายแลดูชายธงของเทวราช ชื่ออีสาณอยู่ ความกลัว ความหวาดสะดุ้ง หรือความขนพองสยองเกล้าที่จักมีก็จักหายไป

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อนั้นแล คือการแลดูชายธงของเทวราช ผู้เป็นเจ้าแห่งเทพก็ตาม การแลดูชายธงของเทวราชชื่อปชาบดีก็ตาม การแลดูชายธงของเทวราชชื่อวรุณก็ตาม การแลดูชายธงของเทวราชชื่ออีสาณก็ตาม ความกลัว ความหวาดสะดุ้ง หรือความขนพองสยองเกล้าที่จักมี ก็จักหายไปได้บ้าง ไม่หายไปบ้าง ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุแห่งอะไร

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุว่า ท้าวสักกเทวราชผู้เป็นเจ้าแห่งเทพ เธอมีราคะยังไม่สิ้นไป มีโทสะยังไม่สิ้นไป มีโมหะยังไม่สิ้นไป เธอยังเป็นผู้กลัว ยังเป็นผู้หวาด ยังเป็นผู้สะดุ้ง ยังเป็นผู้หนี ดั่งนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนเราแล กล่าวอย่างนี้ว่า ถ้าว่า เพื่อท่านทั้งหลายไปอยู่ในป่าก็ตาม ไปอยู่ทีโคนไม้ก็ตาม ไปอยู่ที่เรือนเปล่าก็ตาม ความกลัว ความหวาดสะด้ง หรือความขนพองสยองเกล้า ที่บังเกิดขึ้นในสมัยใด

ในสมัยนั้น ท่านทั้งหลายพึงระลึกถึงเรานั่นเทียวว่า

อิติปิ โส ภควา อรหฺ สมฺมาสมฺพุทโธ แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น

อรหํ เป็นผู้ไกลกิเลส เป็นผู้ควรไหว้ ควรบูชา

สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นผู้รู้ชอบเอง

วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นผู้บริบูรณ์แล้วด้วยวิชชาและจรณะ

สุคโต เป็นพระสุคตผู้เสด็จไปดีแล้ว

โลกวิทู เป็นผู้ทรงรู้โลก

อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ เป็นผู้ฝึกบุรุษผู้ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า

สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นศาสดาผู้สอนของเทพดา และมนุษย์ทั้งหลาย

พุทฺโธ เป็นผู้เบิกบานแล้ว

ภควา เป็นผู้จำแนกธรรม ดั่งนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าเมื่อท่านทั้งหลาย ตามระลึกถึงเราอยู่ ความกลัวก็ดีความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมี ก็จักหายไป

ถ้าท่านทั้งหลายไม่ระลึกถึงเรา ทีนั้นพึงระลึกถึงพระธรรมว่า

สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

สนฺทิฏฺฐิโก เป็นธรรมอันบุคคลพึงเห็นเอง

อกาลิโก เป็นธรรมให้ผลไม่มีกาล เป็นของไม่มีกาลเวลา

เอหิปสฺสิโก เป็นธรรมอันจะพึงเรียกร้องให้มาดูได้

โอปนยิโก เป็นธรรมอันบุคคลควรน้อมเข้ามาใส่ใจ หรือควรน้อมเข้ามาในตน

ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหีติ เป็นธรรมอันวิญญูชนทั้งหลายพึงรู้เฉพาะตัวดังนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าเมื่อท่านทั้งหลาย ตามระลึกถึงพระธรรมอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมี ก็จักหายไป

ถ้าท่านทั้งหลายไม่ระลึกถึงพระธรรม ทีนั้นพึงระลึกถึงพระสงฆ์ว่า

สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวก ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว

อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวก ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว

ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวก ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติถูกแล้ว หรือปฏิบัติเป็นธรรมแล้ว หรือเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความรู้แล้ว

สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวก ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้ว

ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ คือ คู่แห่งบุรุษบุคคลทั้งหลาย ๔

อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา บุรุษบุคคลทั้งหลาย ๘

เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า

อาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรสักการะที่พึงนำมาบูชา

ปาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรของต้อนรับ

ทกฺขิเนยฺโย เป็นผู้ควรทักษิณาคือของทำบุญหรือควรทำบุญ

อญฺชลิกรณีโย เป็นผู้ควรอัญชลีคือควรพนมมือไหว้ คือแสดงความเคารพ

อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าเมื่อท่านทั้งหลาย ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่ ความกลัวก็ดีความหวาดสะดุ้งก็ดี ขนพอง สยองเกล้าก็ดี ที่จักมี ก็จักหายไป ข้อนั้นเป็นเหตุแห่งอะไร

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุว่าพระตถาคตเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีราคะสิ้นไปแล้ว มีโทสะสิ้นไปแล้ว มีโมหะสิ้นไปแล้ว เป็นผู้ไม่กลัว เป็นผู้ไม่หวาด เป็นผู้ไม่สะด้ง เป็นผู้ไม่หนี ดั่งนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้

พระองค์ผู้เป็นพระสุคต ครั้นตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว

ลำดับนั้น พระองค์ผู้เป็นพระศาสดา จึงตรัสพระพุทธพจน์นั้นอีกว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อท่านทั้งหลายอยู่ในป่า หรือที่โคนไม้ หรือในเรือนว่าง พึงระลึกถึงพระสัมพุทธ มัยก็จะไม่พึงมีแก่ท่านทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายไม่ระลึกถึงพระพุทธซึ่งเป็นใหญ่ เป็นผู้เจริญที่สุดในโลก ประเสริฐแห่งนรชน ทีนั้นพึงระลึกถึงพระธรรม อันเป็นเครื่องนำออก ที่เราแสดงไว้ดีแล้ว ถ้าท่านทั้งหลายไม่ระลึกถึงพระธรรม อันเป็นเครื่องนำออก ที่เราแสดงไว้ดีแล้ว ทีนั้นพึงระลึกถึงพระสงฆ์ซึ่งเป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาอื่นยิ่งกว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อท่านมาระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ขนพองสยองเกล้าก็ดี จักไม่มีแล


พระสูตรนี้มีคำแปลโดยความดังที่ได้แสดงมา ในการสวดมนต์เมื่อมีเวลามาก หรือในพิธีใหญ่ที่ต้องการให้สวดพระสูตรเต็ม ก็สวดพระสูตรเต็ม ในการสวดมนต์ทั่วไป สวดจำเพาะอนุสสรณปาฐะ คือปาฐะที่เป็นอนุสสรณะ คือเป็นเครื่องระลึกถึงคุณแห่งพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็คือสวด อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทโธ เป็นต้น ต่อด้วย สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม เป็นต้น ต่อด้วย สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ เป็นต้น ก็คือสวดจำเพาะพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ เท่านั้น อันนำสวดด้วยคำว่า อนุสสรณปาฐะ คือ เป็นปาฐะบาลี หรือถ้อยคำที่แสดงอนุสสรณะ คือคำที่สำหรับระลึกถึง ก็หมายถึงระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อันเป็นเนื้อหาสำคัญของพระสูตรนี้ กับสวดตอนท้ายพระสูตรอันเรียกว่านิคมคาถา ที่แปลว่าคาถาตอนท้าย ตั้งต้นด้วยคำว่า อรญฺเญ รุกฺขมูเล วา เป็นต้น ที่แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อท่านทั้งหลายอยู่ในป่า หรือที่โคนไม้ หรือในเรือนว่างเรือนเปล่า ดั่งนี้เป็นต้น

ต่อไปนี้นั่งขัดสมาธิ เรื่องอานาปานสติยังมีต่อ แต่ว่าเท่าที่ได้แสดงแนวทางปฏิบัติมาแล้วอันเป็นขั้นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือสติปัฏฐานขั้นพิจารณากาย ก็เป็นการเพียงพอสำหรับที่จะใช้ฝึกหัดปฏิบัติ จึงจะแสดงถึงกรรมฐานข้ออื่น อันควรถือเป็นข้อปฏิบัติสับเปลี่ยนกับอานาปานสติ และข้อกรรมฐานทีจะแนะในวันนี้ก็คือ พุทธานุสสติ ธรรมานุสสติสังฆานุสสติ ดั่งที่สอนให้ปฏิบัติในธชัคคสูตรนี้ อันนับว่าเป็นกรรมฐานข้อหนึ่ง

การระลึกถึงพระพุทธเจ้าอันเรียกว่า พุทธานุสสติ นั้น ที่ใช้ปฏิบัติก็คือระลึกถึงพระคุณดังบทที่สวดว่า อิติปิ โส ภควา อรหํ เป็นต้น แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงเป็นพระอรหันต์ คือเป็นผู้ไกลกิเลส ควรไหว้ควรบูชา สมฺมาสมฺพุทโธ เป็นผู้ตรัสรู้เองชอบดั่งนี้เป็นต้น วิธีระลึกนั้น

วิธีที่หนึ่ง ก็คือการระลึกถึงบทพระพุทธคุณ ยกขึ้นมาทีละบท เช่นบทว่า อรหํ ยกขึ้นมาว่า อรหํ และก็พิจารณาไปตามความว่าเป็นผู้ไกลกิเลส คราวนี้ อิติปิ ที่เป็นคำต้นนั้นแปลว่า เพราะเหตุนี้ ๆ ก็คือระลึกขยายความออกไปว่า เพราะเหตุที่พระองค์ทรงเป็นผู้บรรลุถึงธรรมที่ตัดกิเลสได้อย่างนี้ ๆ ฉะนั้น จึงทรงเป็นผู้ไกลกิเลส คือสิ้นกิเลส และกิเลสที่สิ้นนั้นก็สิ้นทั้งหมด ทั้งกิเลสที่เป็นชั้นหยาบ ชั้นกลาง ชั้นละเอียด กิเลสที่เป็นชั้นหยาบก็คือที่เป็นชั้นแรงอันทำให้ละเมิดทางกาย ทางวาจา เช่นฆ่าเขาบ้าง ลักของเขาบ้าง ปรากฏเป็นกรรมกิเลสออกมา ที่เป็นอย่างกลาง ก็คือที่บังเกิดขึ้นเป็นนิวรณ์กลุ้มกลัดอยู่ในจิตใจ ที่เป็นอย่างละเอียด ก็คือที่เป็นอาสวอนุสัย นอนจมหมักหมมอยู่ในจิต สืบเป็นจิตสันดานฝ่ายเศร้าหมอง ละได้หมดจึงเป็นผู้สิ้นอาสวะ คือกิเลสที่ดองสันดานได้หมด จึงเป็นผู้ไกลจริง ๆ คนสามัญทั่วไปนั้น ยังไม่ไกล ยังอยู่กับกิเลส แม้ว่ากิเลสส่วนหยาบจะไม่ปรากฏ เพราะรักษาศีลมีศีล กิเลสอย่างกลางไม่ปรากฏเพราะมีสมาธิ แต่ว่ากิเลสอย่างละเอียดที่เป็นอาสวอนุสัย ยังดองจิตสันดานอยู่ เป็นตะกอนนอนก้น เป็นน้ำที่บนพื้นผิวในตุ่มก็ใสแต่ว่าก้นตุ่มนั้นมีตะกอน ถ้าไปกวนน้ำขึ้นเมื่อใดตะกอนฟุ้งขึ้นมา น้ำในตุ่มก็ขุ่นไปทั้งหมด จิตคนสามัญก็เหมือนกัน ในขณะที่ดูใสตะกอนกิเลสยังอยู่ แต่เมื่อประสบอารมณ์มายั่วยวนเข้า ตะกอนกิเลสก็ฟุ้งขึ้นมาปรากฏเป็นนิวรณ์ หรือเป็นโลภ เป็นโกรธ เป็นหลง เป็นราคะ โทสะ โมหะ จิตก็ขุ่นมัวจึงยังไม่ไกลกิเลส แม้ว่าดูจิตจะใสเหมือนอย่างไกล แต่อันที่จริงนั้นใกล้ คืออยู่กับกิเลส อยู่กับอาสวอนุสัย แต่พระพุทธเจ้านั้นละได้หมด ด้วยทรงบรรลุมรรคผลนิพพาน ตัดกิเลสได้สิ้นเชิงทั้งหมด จึงเป็น อรหํ เป็นผู้ไกลกิเลส เมื่อเป็นผู้ไกลกิเลส ก็เป็นผู้บริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธิ์ใจสิ้นเชิง ก็เป็นผู้ที่ควรไหว้ ควรบูชาอย่างแท้จริง อย่างนี้แหละที่เรียกว่า อิติปิ ที่แปลว่า แม้เพราะเหตุนั้น ๆ คือเป็นอย่างนี้ ๆ พระองค์จึงทรงเชื่อว่า เป็นอรหันต์ เป็นผู้ไกลกิเลส เป็นผู้ควรไหว้ควรบูชา และก็ยกบท สัมมาสัมพุทโธ ขึ้นมาทีละบทแล้วก็พิจารณาไป ในบทพระธรรมคุณก็เหมือนกัน ในบทพระสังฆคุณก็เหมือนกัน

วิธีที่สอง กำหนดสวดมนต์นี่แหละเป็น กรรมฐาน ก็กำหนด อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นต้น สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม เป็นต้น สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ เป็นต้น ให้จิตอยู่กับบทสวดมนต์นี้ วิธีที่สองนี้เป็นวิธีสาธยายกรรมฐาน แต่ว่าสาธยายอยู่ในจิต คือว่าจิตสวดมนต์ นึกถึงบทสวด และในการระลึกถึงบทสวดนั้นเมื่อมีความเข้าใจอยู่แล้ว ใจก็เข้าถึงอรรถคือ เนื้อความไว้ด้วย แต่ว่าถ้าไม่เข้าใจ รู้จักไม่เข้าถึงอรรถคือเนื้อความ ได้แต่พยัญชนะคือถ้อยคำแต่ก็ทำให้ใจรวมได้ และก็ด้วยเหตุที่พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณนั้นเป็นบทที่บริสุทธิ์ แม้จิตจะระลึกถึงโดยพยัญชนะ ไม่รู้ความ ก็ยังเป็นการดี เพราะเป็นบทที่บริสุทธิ์ ไม่มีบทไหนที่ไม่บริสุทธิ์ บริสุทธิ์อย่างยิ่งจริง ๆ จิตก็อยู่กับบทสวดที่บริสุทธิ์ ก็ทำให้จิตเป็นสมาธิได้ และแม้ในการเจริญอานาปานสติที่หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ ก็เป็นการเจริญพุทธานุสสติไปกับลมหายใจเข้าออก เมื่อเจริญหายใจเข้า ธัม หายใจออก โม ก็เป็นการเจริญธรรมานุสสติไปกับลมหายใจเข้าออก เมื่อใช้หายใจเข้า สัง หายใจออก โฆ ก็เป็นการเจริญสังฆานุสสติไปกับลมหายใจเข้าออก
ที่มา : www.visudhidham.com/joomla/th/webboard-wat-triwisuthitham/%E0%B8%8A%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B9%8C-%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81/333-%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C-%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B9%86-%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%8E%E0%B8%81.html 




บทสวดอิติปิโส, อิติปิโส, อิติปิโสแปล